วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

การเขียนเรียงความ


การเขียนเรียงความ
 เป็นการเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นข้อความเพื่อแสดงความคิด ความรู้สึก และความเข้าใจของเราให้ผู้อื่นทราบ

รูปแบบของการเขียนเรียงความ

          การเขียนคำนำ เป็นการเริ่มเรื่องให้ผู้อ่านรู้ว่า เนื้อหาที่จะอ่านต่อไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร การเริ่มเรื่องเป็นตอนสำคัญที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอ่านหรือไม่ ดังนั้นจึงมีวิธีการที่จะเร้าความสนใจของผู้อ่านได้หลายทาง และทั้งนี้ต้องให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องและไม่ควรให้ยาวเกินไป

          เนื้อเรื่อง หมายถึง เนื้อความซึ่งเป็นสาระสำคัญของเรียงความ การจะเขียนเนื้อเรื่องได้ดีต้องมีการวางโครงเรื่องเสียก่อน เพื่อช่วยให้เนื้อเรื่องเป็นไปตามลำดับ ไม่สับสนและมีความเกี่ยวเนื่องกันไปจนจบ

           การสรุปเรื่องหรือการลงท้าย การสรุปเรื่องหรือการลงท้ายช่วยให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องนี้จบแล้ว ไม่ใช่ทิ้งค้างไว้เฉยๆ ทำให้เกิดความสงสัยไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จบแล้วหรือยัง การสรุปไม่ใช่การย่อเรื่องทั้งหมด แต่การสรุปเรื่องหรือการปิดเรื่องที่ดีต้องสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน อาจปิดเรื่องด้วยข้อคิดที่คมคายหรือคำประพันธ์สั้นๆก็ได้

 ลักษณะสำคัญของเรียงความ

         เอกภาพ ได้แก่ ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน เรียงความเรื่องหนึ่งๆ จะต้องมีใจความและความมุ่งหมายสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องที่นำมาเขียนจะต้องเกี่ยวข้องสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันหรือช่วยเสริมให้เรื่องเด่นชัดขึ้น เรียงความที่ขาดเอกภาพ คือ เรียงความที่มีเรื่องต่างๆปนกันบางเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดิมก็มี

         สัมพันธภาพ คือ การเชื่อมโยงข้อความต่างๆ ให้เป็นไปตามลำดับ มีเหตุมีผลรับกัน เรียงความที่มีสัมพันธภาพจะต้องมีเนื้อเรื่องเกี่ยวเนี่องกันไปเหมือนลูกโซ่ เนื้อความต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ

          สารัตถภาพ คือ การเน้นใจความที่สำคัญให้เด่นชัดขึ้นมา ส่วนที่เป็นพลความจะต้องเป็นพลความที่ช่วยสนับสนุนใจความสำคัญนั้น ถ้าเรียงความมีพลความมากเกินไปเรียกว่าขาดสารรัตถภาพ

ลักษณะสำคัญของเรียงความที่ดี

รูปแบบหรือสัดส่วนของเรียงความ จัดได้เหมาะสม วางคำนำ เนื้อเรื่อง สรุปได้ถูกต้องน่าอ่าน

เนื้อเรื่องมีแนวคิดตรงประเด็น ให้ความคิดแปลกใหม่ อ้างเหตุผลถูกต้อง ขยายความได้แจ่มแจ้งชัดเจน

ความสะอาดและความเป็นระเบียบ ลายมือต้องอ่านง่าย เว้นวรรคถูกต้อง

การใช้ภาษา คำนึงถึงข้อต่อไปนี้

ใช้คำกะทัดรัด เข้าใจง่าย มีความหมายชัดเจน

ใช้คำถูกต้องตรงความหมาย และเหมาะสมกับเรื่อง
ไม่ใช้ภาษาพูด ภาษาถิ่น หรือคำสแลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น